หมวด:

ประวัติความเป็นมาของชะอวด,ที่มาชะอวด,ประวัติชะอวด

     ประวัติความเป็นมาของ อ.ชะอวด

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ.2310 หัวเมืองต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นอิสระทางปักษ์ใต้ พระปลัดหนูผู้รักษาการเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นอิสระ เรียกว่า "ชุมนุมเจ้านคร" ปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด สำหรับเมืองพัทลุงนั้น เจ้านคร (หนู) ได้ส่งหลานชายไปปกครอง เจ้าเมือง ผู้นี้ได้ย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่บ้านท่าเสม็ด ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จากหลักฐานชี้ว่า บริเวณท่าเสม็ด เป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของพัทลุงมาตั้งแต่ครั้นพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกในพุทธศตวรรษที่ 24 เมืองนครศรีธรรมราช ก็เข้ามามีอำนาจแทนพัทลุงที่อ่อนแอไป แต่อย่างไรก็ตามในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ท่าเสม็ดก็ผลัดเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้อำนาจของทั้งพัทลุงและนครศรีธรรมราช เพราะว่าท่าเสม็ด เป็นชุมชนที่พัทลุงและนครศรีธรรมราช มีอำนาจอยู่เบาบางตามทฤษฏี "รัฐแสงเทียน" (Mandala) ที่อธิบายว่ามโนภาพในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของอำนาจการปกครองของจักรพรรดิในศูนย์กลางหนึ่ง ๆ เป็นเสมือนดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นในห้องมืดแสงสว่างหรืออำนาจมีอย่างเข้มข้นในอาณาบริเวณที่ใกล้กับจักรพรรดิหรือดวงเทียนนั้น

 

ดังนั้นชุมชนท่าเสม็ดจึงเป็นเมืองกันชนระหว่างพัทลุงกับนครศรีธรรมราช และเป็นเมืองที่อำนาจการปกครองของสองเมืองมีความอ่อนแอ ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเชื้อสายเมืองพัทลุง อาทิ เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ 2 หรือสมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระบรมพระชนนีของรัชกาลที่ 3 ได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ในราชสำนัก และในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื้อสายเมืองพัทลุง ก็เปลี่ยนจากศาสนาอิสลามมาเป็นศาสนาพุทธเพื่อสถาปนาอำนาจขึ้นตรงต่อราชสำนัก ส่งผลให้เมื่อพัทลุงเป็นเมืองหนึ่งภายใต้การปกครองของนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 5 พัทลุงจึงมีอำนาจอยู่ระดับหนึ่ง เหตุนี้จึงส่งผลให้ ท่าเสม็ด เป็นพื้นที่ชายขอบหรือชายแดนที่นครศรีธรรมราช มีอำนาจอยู่น้อยและในขณะที่พัทลุง ก็มีอยู่น้อย เช่นกัน เพราะว่าการปกครองของชุมชนอยู่ในอำนาจของนครศรีธรรมราช ที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางการปกครอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่โจรผู้ร้ายที่ก่อคดีขึ้นทั้งในเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุง เข้ามาอาศัยพื้นที่ท่าเสม็ดเป็นที่อยู่ตั้งรกรากใหม่ จนกระทั่งความเจริญเข้ามาในท่าเสม็ด ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพมหานคร - ปีนัง (Penang) ซึ่งเริ่มใน พ.ศ.2452 แล้วสามารถเปิดเดินรถไฟตลอดเส้นทางจากสถานีธนบุรี - ปาดังเบซาร์ เมื่อ พ.ศ. 2461 โดยเส้นทางนี้ได้ผ่านชุมชนท่าเสม็ด จึงส่งผลให้ท่าเสม็ด ยกระดับความเป็นเมืองขึ้น ความเจริญของเมืองเมื่อเปิดเดินรถไฟตลอดเส้นทางพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ชำนาญการค้าขาย และอดทนเป็นเยี่ยม แต่อย่างไรก็ตามปัญหาโจรผู้ร้ายก็ยังชุกชุมอยู่ ดังนั้นเพื่อต้องการควบคุมเมืองให้สงบสุข

      ชุมชนชะอวด ได้ยกฐานะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอร่อนพิบูลย์ และชุมชนท่าเสม็ดเป็น กิ่งอำเภอชะอวด (Cha-uat) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย ทางราชการได้แต่งตั้งข้าราชการมาดำรงตำแหน่งปลัดกิ่งอำเภอคนแรก คือ ขุนอินทร์บุรี (เอียด ณ นคร) การตั้งเมืองในครั้งนี้เป็นการสถาปนาความเป็นชายขอบในนครศรีธรรมราช ให้กับเมืองชะอวดนับแต่นั้นมา

 

ชะอวด ในอดีต

      ชะอวดเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งชื่อของอำเภอเหมือนกับชื่อของตำบล ในสมัยก่อนอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอร่อนพิบูลย์ โดยมี 5 ตำบล คือ ตำบลชะอวด ตำบลท่าประจะ ตำบลท่าเสม็ด ตำบลวังอ่าง ตำบลเคร็ง ศูนย์กลางของตำบลชะอวด คือวัดชะอวด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดอวด" ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบ้านชะอวด อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งชุมชนในสมัยโบราณ

      ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453 - 2468) ได้สถาปนาหน่วยการปกครองหน่วยใหม่ขึ้นต่อนครศรีธรรมราช ได้ปรากฏตามหลักฐานในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 กันยายน 2466 ในสมัยที่พระสุนทรวรนาถ (พร้อม ณ ถลาง) เป็นนายอำเภอร่อนพิบูลย์ และพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยความเห็นชอบของสมเด็จเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศร์ อุปราชปักษ์ใต้ อันเป็นสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีความประสงค์จะปราบปรามโจรผู้ร้ายเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งกิ่งอำเภอชะอวด บริเวณที่ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอชะอวดอยู่ใกล้กับชุมชนของตำบลท่าเสม็ด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ ในสมัยนั้นเรียกว่า "สถานีรถไฟท่าเสม็ด" โดยอยู่เยื้องไปทางทิศใต้ ประมาณ 200 เมตร ที่ทำการของกิ่งอำเภอชะอวด เป็นโรงเรือนชั้นเดียวหลังคามุงจาก ฝาทำด้วยไม้ขัดแตะ พื้นเป็นดิน ที่นั่งของประชาชนที่มาติดต่อทำเป็นราวด้วยไม้ไผ่มีพนักพิง บางครั้งชาวบ้านที่ไปติดต่อนั่งนอนตามใต้ต้นไม้ใกล้ ๆ ประชาชนในสมัยนั้นส่วนใหญ่ เรียกที่ทำการกิ่งอำเภอว่า "ท่าเสม็ด" และมีบางคนเรียกการไปติดต่อที่ว่าการกิ่งอำเภอว่า "ไปศาล"

      ปี พ.ศ.2488 ทางราชการได้ยุบเขตการปกครองจาก 5 ตำบล เหลือ 3 ตำบล คือ ตำบลเคร็งกับตำบลท่าเสม็ด รวมเรียกว่าตำบลท่าเสม็ด ตำบลวังอ่างกับตำบลท่าประจะ รวมเรียกว่าตำบลท่าประจะ ส่วนตำบลชะอวด ยังคงสภาพเดิม

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2496 ได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะกิ่งอำเภอชะอวดขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอชะอวด" รวมเป็นกิ่งอำเภออยู่ 30 ปี หน่วยการปกครองได้แยกตำบลออกเป็น 5 ตำบล ตามเดิม ส่วนอาณาเขตของอำเภอยังคงที่

ในเวลาต่อมาได้มีการแยกตำบลต่าง ๆ ออกจัดตั้งเป็นตำบลใหม่เพื่อขยายเขตการปกครองให้ทั่วถึงตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้ แยกตำบลชะอวด ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบลบ้านตูล แยกตำบลบ้านตูล ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบลควนหนองหงษ์ แยกตำบลท่าเสม็ด ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบล ขอนหาด แยกตำบลขอนหาด ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบลนางหลง แยกตำบลท่าประจะ ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบลเกาะขันธ์ แยกตำบลวังอ่าง ไปส่วนหนึ่งรวมตั้งเป็นตำบลเขาพระทอง

      ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการเขตแดนของอำเภอชะอวด ทางทิศเหนือ เพราะมีการแบ่งแยกพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านตูล และตำบลควนหนองหงษ์ ไปขึ้นอยู่ในเขตการ ปกครองของอำเภอจุฬาภรณ์

 

ที่มาของชื่อชะอวด

       คนถิ่นไกลในสมัยก่อนเรียกขานพื้นที่ที่เป็นเขตสุขาภิบาลชะอวด ว่า "ปราณ" เมืองปราณมี อาณาเขตไปถึงตำบลวังอ่าง และวัดเขาลำปะ ทำไมทางราชการจึงตั้งชื่อชื่อกิ่งอำเภอว่า "ชะอวด" ทำไมไม่ตั้งชื่อว่า "ท่าเสม็ด" ทั้ง ๆ ที่สถานีรถไฟซึ่งตั้งมาก่อนชื่อสถานีรถไฟท่าเสม็ด และชุมชนแถวนี้คนในพื้นที่เรียกว่าท่าเสม็ด อยู่แล้ว

ท่าเสม็ด คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า "ท่าแหม็ด" คำว่า "แหม็ด" ภาษาปักษ์ใต้แปลว่า หมดสิ้น ไม่มี จบ จบรายการ ไม่มีอะไรเหลือ และหากใครพูดว่า "แหม็ดท่า" จะมีความหมายในทางเสียหายมากสำหรับคนใต้ เพราะหมายถึงไม่มีหนทางในการต่อสู้ทุกรูปแบบ ท่าแหม็ด เป็นชื่อของท่าเรือและตลาดน้ำเก่าแก่ของตำบลท่าเสม็ด อยู่ตรงบริเวณหน้าวัดท่าเสม็ด ในปัจจุบัน

ส่วนคำว่า "ชะอวด" เป็นคำที่ไม่มีในพจนานุกรม แต่คำว่า อวด มีความหมายในทางที่ดีแปลว่า สำแดงให้รู้ แสดงให้ปรากฏ การอวดให้คนอื่นรู้ให้ผู้อื่นเห็นล้วนเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น

อวด ยังเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งเป็นเถาวัลย์ เดิมมีอยู่ทั่วไปในท้องที่อำเภอนี้ ชาวบ้านเรียกว่า ย่านอวด หรือเชือกอวด เถาวัลย์ชนิดนี้เป็นที่นิยมของชาวบ้านเพราะมีประโยชน์ในการใช้ผูกมัดสิ่งของได้สารพัด เช่นผู้รั้วบ้าน ผูกมัดโรงหนังตะลุง โรงมโนราห์ ใช้ทำเชือกลากเรือพระในวันออกพรรษา เพราะมีความเหนียวแน่นและทนทานมาก เพราะฉะนั้น คำว่า อวด จึงมีความหมายในทางที่ดีทั้งนั้น ไม่ว่า อวด ที่เป็นคำกิริยา หรือ อวด ที่เป็นเถาวัลย์พรรณไม้

กิ่งอำเภอใหม่ จึงใช้ชื่อ ชะอวด เป็นชื่อทางราชการ เชื่อว่าข้าราชการและผู้นำชุมชนในสมัยนั้นคงได้มีการพิจารณาชื่อนี้ด้วยความรอบคอบ เพื่อรักษานามเดิมเอาไว้ บ้านชะอวด จึงเกิดขึ้นสองแห่งในอำเภอเดียวกัน ในตำบลเดียวกัน ที่เดิมขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 2เรียกว่า บ้านอวด ที่ใหม่ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 เรียกว่า บ้านตลาดชะอวด

ชุมชนแห่งใหม่เป็นที่ตั้งของที่ทำการกิ่งอำเภออยู่ใกล้สถานีรถไฟอันเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกสายเดียวที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น และอยู่ใกล้แม่น้ำชะอวดเส้นทางคมนาคมทางเรือที่ขนส่งสินค้าและสัญจรไปมากับอำเภออื่น ๆ โดยเฉพาะอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นอำเภอที่มีเศรษฐกิจดีมากของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเวลานั้น ชะอวดเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ทำให้ชื่อ เมืองปราณ ชื่อบ้านท่าเสม็ด ซึ่งคนรุ่นเก่าเรียกขาน ไม่มีอยู่ในความรู้ของคนรุ่นใหม่เลย ส่วนชุมชนเก่าแก่เจ้าของนามชะอวดเดิม ที่มาของชื่อตำบลและชื่ออำเภอกลายเป็นชุมชนที่คนรุ่นหลังไม่รู้จัก ปัจจุบันได้แยกไปขึ้นกับอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

ความเป็นมาของชื่อชะอวด

      จากการสืบค้นความเป็นมาของชื่อ "ชะอวด" พอสรุปได้ว่ามีความเป็นมา 2 ประการ คือ

มาจากคำว่า เชือกอวด หรือ ย่านอวด เพราะพื้นที่ของอำเภอชะอวดเดิมครอบคลุมไปทั่วทั้งบริเวณที่เป็นภูเขาทางทิศตะวันตก แล้วลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออกเป็นลอนลูกคลื่น มีที่ราบสูงต่ำสลับกัน ส่วนที่เป็นลอนลูกคลื่นเรียกว่า ควน ทางทิศตะวันออกของตำบลเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี เรียกว่า พรุ หรือ โพระ บริเวณที่ราบและควนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้หลากหลายพรรณตามลักษณะของพื้นที่ ในผืนป่าเหล่านี้จะมีเถาวัลย์หลากหลายชนิดที่ขึ้นพันเกี่ยวกับ ต้นไม้น้อยใหญ่ มีเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก มีความเหนียวแน่นทนทาน เรียกว่า เชือกอวด หรือย่านอวด หรือต้นอวด การไปตัดย่านอวดค่อนข้างลำบากเพราะต้องดึงออกจากการเกี่ยวกับกับต้นไม้อื่น ๆ คนตัดต้องออกแรงดึง ซึ่งภาษาใต้ เรียกการดึงว่า ชะ ฉะนั้น คำว่า ชะอวด คือการดึงย่านอวดให้หลุดออกมาจากต้น กิ่ง ก้าน ของต้นไม้อื่น

มาจากคำว่า เจ็กฮวด หรือเจ้าฮวด ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ เจ็กฮวด หรือเจ้าฮวด มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านชะอวด (ปัจจุบันตำบลบ้านชะอวด อำเภอจุฬาภรณ์) มีการเล่าสืบทอดกันมาว่า ในครั้งที่มีการบูรณะพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ครั้งแรก ปลายพุทธศตวรรษ ที่ 23 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีชาวบ้านในแถบหัวเมืองน้อยใหญ่ในแถบภาคใต้นำแก้วแหวนเงินทองและของมีค่าอื่น ๆ เพื่อร่วมในการบูรณะพระบรมธาตุ แต่เมื่อนักบุญเดินทางมาถึงที่ดินของเจ้าฮวด ได้ทราบว่าการบูรณะพระบรมธาตุได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้ชักชวนกันไปปรึกษา เจ้าฮวด เมื่อเจ้าฮวดทราบความประสงค์ของผู้ที่เดินทางมาก็เกิดมีจิตศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงได้มอบที่ดินของตนเองให้ทำการสร้างวัดโดยตั้งชื่อว่า "วัดเจ้าฮวด" และได้เรียกเพี้ยนมาเป็น "วัดชะอวด" มาจนถึงทุกวันนี้