ย้อนอดีตบ้านทุ่งค่าย

ย้อนอดีตบ้านทุ่งค่าย

“ทุ่งค่าย” เป็นชื่อบ้านตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๘ ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนเส้นทางรถไฟสายใต้สร้างนั้นได้สร้างผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย ต่อมาการรถไฟได้จัดตั้งเป็น “สถานีย่อย” ที่ขบวนรถท้องถิ่นหยุดจอดชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า“ป้าย” โดยใช้ชื่อบ้านเป็นชื่อป้าย เพื่อรับส่งผู้โดยสารแต่ไม่มีการขนส่งสินค้า อยู่ระหว่างสถานีชะอวด กับสถานีบ้านตูล ในอดีตสถานีแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ใช้บริการขึ้นลงตลอดมา สำหรับ “ทุ่งค่าย”เป็นชื่อบ้านที่น่าติดตามคือ
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งศึกสงครามเก้าทัพพม่ายกกำลังมาตีไทยทางภาคใต้ ได้ตีเอา ชุมพร ไชยา นครฯ และเดินทัพมาถึงบริเวณนี้ซึ่งเป็นที่ดอนโล่งเตียนมีลำคลอง ช่องค้างคาวไหลผ่านเห็นเป็นชัยภูมิเหมาะจึงตั้งค่ายพักพลและสืบหาข่าวเพื่อจะเข้าตีพัทลุงและสงขลาต่อไป
ส่วนพัทลุงนั้นเมื่อทราบข่าวศึก “มหาช่วย” พระภิกษุ วัดป่าลิไลยก์ ได้รวบรวมศิษยานุศิษย์ กรมการเมือง แล้วยกกำลังมาต้านที่บ้านท่าเสม็ดริมคลองชะอวด เมื่อพม่าทราบข่าวว่ากองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ยกมาช่วยก็ถอยทัพหนีไปยังเมืองมะริด ต่อมาบริเวณดังกล่าวชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านพม่าทิ้งค่าย” แต่ภาษาใต้มักใช้สั้นๆ และคำว่า “ทิ้ง” เป็น “ทุ่ม” จึงเรียกเป็น “บ้านทุ่มค่าย” แล้วกร่อนกลายเป็น “บ้านทุ่งค่าย” ไปในที่สุด
และครั้งสยามสร้างทางรถไฟสายใต้ พ.ศ. ๒๔๕๔ บริเวณนี้ได้มีบทบาทอีกครั้งหนึ่งเมื่อกรมการรถไฟได้เลือกเป็นสถานที่ตั้งโรงงานชั่วคราวกว่า ๒๐ หลัง เหตุผลคงเป็นที่เหมาะสมเช่นเดียวกับกองทัพพม่ามาตั้งค่ายพักพลเมื่อครั้งอดีต คือเป็นที่ราบโล่งเตียนน้ำท่วมไม่ถึง แต่มีน้ำใช้ได้ตลอดปี เพื่อเป็นที่พักคนงานโรงเรือนเก็บวัสดุอุปกรณ์และสร้างสถานีย่อยขึ้นในเวลาต่อมา
คราวรัฐส่งเสริมสร้างทางและถนนกิ่งอำเภอชะอวดจึงได้สำรวจปักหลักเขตด้านตะวันตกของทางรถไฟ จากชะอวด-บ้านทุ่งค่าย-บ้านตูล ประมาณ ๙ กิโลเมตร ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ปรับเป็นถนนลาดยางทำให้การคมนาคมสะดวกรวดเร็วโดยไม่ต้องรอรถไฟซึ่งวิ่งไป-กลับวันละ ๒ -๓ ขบวนเท่านั้น ผู้คนจึงกลับไปใช้ทางรถยนต์แทนกันมากขึ้น เป็นเหตุให้สถานี ย่อย “บ้านทุ่งค่าย” ลดความสำคัญลง ขณะที่ในอดีตคับคั่งไปด้วยผู้คน แต่ปัจจุบันเหลือไว้แต่ความทรงจำและเรื่องเล่าเท่านั้น ในที่สุดก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ บัดนี้ “สถานีบ้านทุ่งค่าย” เหลือเพียงตำนานเล่าว่า
“ เคยรับใช้มวลชนดั่งมนต์ขลัง แต่นามยังคงอยู่ไม่รู้หาย
โอ้ “บ้านทุ่งค่าย” หน่ายรักวังเวงวาย เสื่อมถดถอยมากลับกลายไร้ผู้จร
อนิจจังดั่งคำพระพุทธพจน์ ที่กำหนดเกณฑ์กรรมเป็นคำสอน
สรรพสิ่งทั้งมวลล้วนไม่แน่นอน ดับม้วยมรณ์พลัดพรากต้องจากไป”

(จากสารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒ ก.พ.๒๕๕๗/ ผจญ มีจิตต์)