เรื่องเก่าเล่าขาน ตำนานนางหลง
 
ตำนานนางหลง

     ความจริง ผมไม่ใช่นักค้นคว้า หรือนักเสาะแสวงหาประวัติภูมินามวิทยาในท้องที่ต่างๆ อีกทั้งความรู้ในด้านนี้ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ผมเขียนเรื่องทำนองนี้เท่าใดนัก แต่บังเอิญ เมื่อกลางปีที่แล้ว (๒๕๑๓) ผมมีโอกาสได้ร่วมคณะหน่วยแพทย์อาสาสมัครเขต ๘ ในสมเด็จพระราชชนนี ออกตรวจรักษาโรคและแจกยาบริการประชาชนในท้องที่ บ้านเกาะร้าว ตำบลไม้เสียบ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อหาประสบการณ์นอกท้องที่ ผมจึงไม่เคยปฏิเสธในการที่ใครจะชวนผมไปที่ไหน เพราะผมถือว่าการได้ออกไปนอกท้องที่ ได้พบได้รู้เห็นสภาพต่างๆ ที่ห่างไกลตัวเรา เป็นกำไรสำหรับผมอย่างยิ่ง ไม่ว่าทางที่ไปจะลำบากยากเย็นเพียงใดก็ตาม

หูตาของผมได้กว้างขึ้นอีกเล็กน้อยเมื่อไปถึงท้องที่นั้น ในขณะที่เสียงเฮลิคอปเตอร์บินเหนือท้องที่ดังกล่าว ชาวบ้านในแถบนั้นก็เตรียมอุ้มลูกจูงหลานออกมายังจุดนัดพบ เพื่อให้คณะแพทย์ในสมเด็จพระราชชนนี ได้ตรวจรักษาโรค เพราะในท้องที่ถิ่นกันดารเช่นนี้ นานครั้ง ชาวชนบทจะมีโอกาสดีเช่นนี้สักครั้งหนึ่ง

ราษฎรที่มารักษาจึงเต็มด้วยความปิติยินดี แม้ถนนหนทางที่ผ่านมาจะลำบากสักหน่อย แต่ทุกคนก็ห่วงชีวิตห่วงลูกห่วงหลาน และเข้าใจในความปรารถนาของคณะแพทย์และซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระราชชนนี นอกจากชายหญิงที่นำลูกหลานมาให้ตรวจรักษาโรคจำนวนมากแล้ว ในวันนั้นผมยังเห็นชายผู้หนึ่งอายุ ๙๖ ปีแล้วถือไม้เท้าเดินหลังคู้ด้วยอาการงกๆ เงิ่นๆ ตามประสาคนแก่ ตำรวจตระเวนชายแดนเห็นก็เข้าประคองมาแพทย์ แกบอกว่าแกอุตส่าห์เดินทางมาราว ๔ กิโลเมตร ก็เพื่อต้องการที่จะมาดูเฮลิคอปเตอร์ และต้องการที่จะให้ตรวจรักษาโรคของแก ซึ่งมีอยู่ ๒ อย่างคือโรค “หลังคู้” และโรคปวดเมื่อยตามข้อ ทำให้เห็นว่าราษฎรทุกคนในท้องที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้นำครอบครัว หรือผู้เฒ่าสังขารใกล้แตกดับแต่ก็ยังอยู่ด้วยความหวัง หวังในความช่วยเหลือจากบริการต่างๆ ของรัฐบาล ยังต้องการที่พักพิง ยังมิได้หลงในคำโฆษณาชวนเชื่อของผู้ใกล้ชิดที่ซ่อนเร้น หากแต่คนของรัฐบาลจะทำตัวเป็นที่พึ่งแก่เขาได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้น

ณ ที่นั้นเอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ออกตระเวนไต่ถามทุกข์สุขราษฎร และได้ไปดูสภาพโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยใต้ถุนมัสยิดเรียน จึงได้จัดสรรงบประมาณให้สร้างอาคารเรียนใหม่ และได้พบกับราษฎรผู้หนึ่ง ผู้เห็นแก่บ้านเมอง และลูกหลานอุทิศที่ดินหลายสิบไร่ให้ทางราชการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ สร้างกองร้อย ตร.ชด. ขึ้นเพื่อให้สวัสดิภาพแก่ราษฎร ในแถบที่มีผู้ก่อการร้ายคุกคามอยู่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความขอบคุณ และกล่าวคำสดุดีว่าเป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง

ในขณะที่แพทย์ให้การตรวจรักษา ผมก็ออกมาคุยกับชาวบ้านเพราะไม่รู้จะทำอะไร บริเวณท้องที่ที่หน่วยแพทย์ไปตั้งแคมป์รักษานั้นมีธารน้ำไหลร่มรื่นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อย ภูมิประเทศทำให้เรานึกไปถึงชื่อ “บ้านเกาะร้าว” ทำไมถึงชื่อ “เกาะร้าว” นอกจากนี้ยังมีบ้าน “วังหอน” บ้าน “นางหลง” ซึ่งผมเชื่อว่าต้องมีประวัติความเป็นมาอย่างแน่นอน

“บ้านเกาะร้าวมีประวัติน่าสนใจมากครับ” มีผู้เฒ่าคนหนึ่งขยับให้ผมฟัง หลังจากที่ผมถามคนหนุ่มๆ ดูหลายคนแต่ไม่ได้เรื่องราว

“ต้องคนเก่าแก่จริงๆ เท่านั้นจึงจะรู้เรื่อง แต่คนแก่อย่างผมก็ได้ยินเขาเล่ามาอีกต่อหนึ่ง เอาแน่นอนไม่ค่อยได้เหมือนกัน” ผู้เฒ่าออกตัว แล้วบรรยายพอสรุปได้ว่า
.
ในท้องที่แห่งนี้ ขณะนั้นอยู่ในความปกครองของเจ้าผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ซึ่งราษฎรต่างก็อยู่ด้วยความปรกติสุขตลอดมา จนกระทั้งทหารคนสนิทของผู้ครองเมืองชื่อ “ตาหลวงเดช” เกิดฮึกเหิมในวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมาจนสามารถเดินบนผิวน้ำ และหายตัวได้ และบังอาจเป็นชู้กับ “นางห้าม” ของเจ้าผู้ครองเมือง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ “ตาหลวงราม” เพื่อสนิทคิดขบถอีกด้วยอันเป็นการสร้างความแค้นเคือง ให้กับข้าราชบริพารและราษฎรเป็นยิ่งนัก เกาะที่เคยสงบสุขจึงเกิดความแตกร้าวขึ้นคราวนั้นเอง ชาวบ้านถูกเรียกให้มาชุมนุมกันพร้อมหน้าเพื่อจับตาหลวงเดชฐานขบถและทำผิดคิดมิชอบด้วยการลอบเป็นชู้กับนางสนม แต่ตาหลวงเดชก็อาศัยอิทธิฤทธิ์ของตนหลบหนีไปพร้อมกับนางสนมผู้เป็นชู้รัก ซึ่งขณะนั้นกำลังท้องแก่ และถูกราษฎรรุกไล่มากระชั้นชิดทำให้นางสนมหลงทางกับตาหลวงเดชชายชู้และเดินวนอยู่จนหมดเรี่ยวแรง คลานกระเสือกกระสนมานอนตายพร้อมทารกในท้องที่ข้างธารน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกท้องที่นั้นว่า “บ้านนางหลง” มาจนบัดนี้ และธารน้ำแห่งนั้นเรียกกันว่า “ปลายลูกอ่อน”

หลังจากที่ตาหลวงเดชได้แสดงอิทธิฤทธิ์ไม่ยอมให้จับกุม จนราษฎรล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สิ้นความพยายามของทหารผู้จงรัก ในที่สุด “ตาหลวงเดช” ก็ถูกจับได้ที่ป่าพะยอม เขตอำเภอควนขนุน ซึ่งเมื่อก่อนนั้นยังไม่มีการแข่งเขต และถูกเรียกว่า “ป่ายอม” ตั้งแต่นั้น ตาหลวงเดชยอมให้จับที่นั่น ถูกมัดเหมือนหมูอยู่ในกระชุ ทหารได้นำไปฆ่าด้วยการตัดหัวเสียบประจานที่ “ไม้เสียบ” ส่วนลำตัวใส่ไทรลอยไปตามธารน้ำ จนธารน้ำนั้นเรียกว่า “ท่าไทร” มาจนบัดนี้ ส่วนเลือดใส่อ่างลอยไปจนอ่างนั้นจม ที่ตรงนั้นจึงถูกเรียกว่า “บ้านวังอ่าง”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวจากคำบอกเล่าของราษฎรเจ้าของท้องถิ่นซึ่งได้รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ต่อๆ กันมา แต่คนรุ่นหนุ่มรู้สึกจะไม่ค่อยสนใจจะฟังเรื่องเหล่านี้เท่าใดนัก เมื่อไปถามถึงประวัติท้องที่ จึงไม่ค่อยมีใครรู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าดังกล่าวแล้ว ก็มีเพียงชื่อหมู่บ้านที่จะอ้างอิงได้เท่านั้น ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ไม่อาจจะนำมาประกอบได้ ซึ่งผมทราบว่า หน่วยศิลปากรของเรา ก็กำลังรวบรวมศึกษาชื่อท้องที่เหล่านี้อยู่ บางทีท่านอาจจะได้อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจน่าศึกษามากกว่าที่ผมเขียนเล่าในโอกาสต่อไปก็ได้


คัดจากสารนครศรีธรรมราช
ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๔