“พระยาท่าเหม็ด”
เรื่องเล่าภูมินามก่อนเป็น “ชะอวด”
ที่ต้องขอความกรุณาว่า “อย่าผวน” !!!
เรือหางยาวที่กำนันหนุ่มตำบลเคร็งของเรานัดไว้เป็นพาหนะมาถึง เราสิบกว่าคนซึ่งรออยู่ด้วยความกระวนกระวายแทบจะเต็มกลั้นก็เฮโลกันลงเรือ และแล้วพาหนะเรือหางยาวก็พาเราล่องลงตามลำแม่น้ำ เลี้ยวโค้งตลาดใหม่ ลอดสะพานรถไฟ ผ่านตลาดเก่า และศาลเจ้าพระยาแก้ว พระยาทอง ไปเต็มฝีจักร
.
พระยาแก้ว พระยาทอง เป็นชื่อที่ไม่ควรผ่าน แต่จากประวัติปากคนเล่า ซึ่งผมซักอย่างสุดฤทธิ์แล้ว ก็คงจะได้ความเพียงกว้างๆ ว่า พระยาสองท่านนี้ เป็นผู้ว่าราชการเมืองชะอวดสมัยที่ยังเรียกกันว่า “ปราณบุรี” หรือที่ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกรมศิลปกรให้พิมพ์เรียกเป็น “ปรามบุรี” นั่นเอง แต่ชาวเมื่องหานิยมเรียกชื่ออันไพเราะนี้ไม่ กลับไปเรียก “ท่าเสม็ด” กันจนคุ้นเคย
.
ตามว่า พระยาทั้งสองเป็นพี่น้องตระกูลเดียวกัน และว่าราชการต่อสมัยกัน พระยาแก้วมีสร้อยบรรดาศักดิ์ต่อจากแก้วอีกสองพยางค์คือ “แก้วโกรพ” ส่วนพระยาทองไม่มีใครทราบว่าสร้อยนามบรรดาศักดิ์ต่อไปว่าอย่างไร
.
ชาวเมืองเคารพนับถือสองพระยาปราณบุรีนี้มาก เมื่อสองพระยาสิ้นบุญลง ชาวเมืองจึงเซ่นวักวิญญาณ อันเชิญไปสถิตยังศาลที่สร้างให้เป็นที่สักการะบูชา และตามว่า วิญญาณพระยาแก้ว พระยาทอง สองท่านนี้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ บนอะไรบันดาลนั้นให้เสมอมา เป็นที่นับถือกันทั่วไป
.
นอกจากชาวบ้านตลอดทั้งย่านน้ำแล้ว ชาวเรือไปมาตามลำน้ำเมื่อผ่านคดที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ อย่างน้อยก็ต้องยกมือวันทาออกชื่อขอความคุ้มครองให้ปลอดจากภัยพิบัติ ให้ธุรกิจที่ตั้งใจประกอบสัมฤทธิ์ผล ที่สักการะอย่างใหญ่ก็ได้แก่พวกจีนซึ่งมักล่องเรือใหญ่ไปมาอยู่เสมอ พวกนี้จะเซ่นหัวหมู เป็ด ไก่ และจุดประทัดให้พระยาแก้ว พระยาทองฟังก้องแม่น้ำทีเดียว
.
มีเรื่องเกี่ยวกับพระยาท่าเสม็ดเล่ากันว่า หลังจากพระยาแก้ว พระยาทองสิ้นบุญแล้ว ทางบ้านเมืองชักจะหาตัวพระยา ส่งมาว่าราชการเมืองปราณบุรี ที่ชาวเมืองเรียกว่าท่าเสม็ดแห่งนี้ยากเข้าทุกที เพราะพระยา ผู้จะถูกส่งมาว่าราชการเมืองท่าเสม็ด รังเกียจชื่อเมือง พอรู้ตัวว่าจะถูกส่งมาว่าราชการเมืองท่าเสม็ด หากมีทางบ่ายเบี่ยงได้ จะบ่ายเบี่ยงทันที
.
คำ “เสม็ด” หรือที่คนพื้นเมืองปักษ์ใต้เรียก “เหม็ด” สั้นๆ แม้จะค้นต้นตอออกมาตีแผ่กันจนสิ้นความเคลือบแคลงแล้ว ว่ามันเป็นชื่อไม้เนื้อแข็งสะเทินน้ำสะเทินบก ที่ชอบขึ้นตามพรุชนิดหนึ่ง และมีมากมายในท้องที่อำเภอชะอวด คนนิยมใช้ลำต้นของมันทำเรือน เสา โรง ท่า เสาอะไรต่อมิอะไร ฯลฯ
.
ใช้เปลือกซึ่งเป็นเยื่อบางนิ่มซ้อนกันหลายชั้นโดยธรรมชาติ ห่อน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวหยอดเป็นแว่นแข็งกันชื้น และใช้ขยี้คลุกน้ำมันยางทำไต้
.
ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว มีผู้ตัดไม้เสม็ดผูกเป็นแพหรือบรรทุกเรือ และลอกเปลือกของมันมัดเป็นฟ่อนๆ ล่องขึ้นมา สนนราคาซื้อขายกันที่ตลาดชะอวดปัจจุบันนี่แหละ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า “ท่าเสม็ด”
.
แต่ถึงรู้อย่างแจ่มแจ้งว่าเสม็ดเป็นชื่อไม้พันธุ์หนึ่งให้ประโยชน์มนุษย์เห็นถึงปานนั้น และเป็นแต่เพียงชื่อท่าน้ำที่บอกสภาพอดีต ชื่อเมืองจริงๆ นั้นคือ “ปราณบุรี” ฟังออกใครไพเราะ พระยาผู้จะถูกส่งมาราชการก็ยังรังเกียจอยู่ดี รังเกียจเพราะว่าคนปักษ์ใต้มักย่อคำหลายพยางค์ลงเหลือพยางค์เดียว อย่างชื่อพระยาผู้ว่าราชการ ก็นิยมตัดทิ้งเรียกแต่บรรดาศักดิ์พวกเขากับชื่อเมืองที่พระยาท่านว่าราชการเท่านั้น มิหนำชื่อเมืองทางราชการ “ปราณบุรี” อันไพเราะก็ไม่ยอมเรียกเสียอีก กลับไปนิยมเรียกชื่อพื้นๆ “ท่าเสม็ด”
.
ทีนี้ เมื่อเอาบรรดา “พระยา” ไปประกบกับชื่อเมือง “ท่าเสม็ด” โดยกร่อน “ส” ออกเสียตัวหนึ่ง เป็น “พระยาท่าเหม็ด” ผวนแล้วจะได้ความน่าเกลียดสุดที่พระยาผู้ว่าราชการจะทนไหว แล้วคนปักษ์ใต้ก็มักจะมีใช้ผวนกันติดปากทีเดียว
.
มีเรื่องเล่าต่อไปว่า ผู้ว่าราชการเมืองปราณบุรีนี้ บางทีมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนมาว่าราชการมีความชอบ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวง เป็นพระ ตามลำดับ พอจะถึงพระยา ก็วิ่งวงในขอย้ายกันอุตลุดทีเดียว ต้องการจะย้ายไปรับบรรดาศักดิ์พระยาตามเมืองที่มีชื่อเป็นมงคลกว่า “ท่าเสม็ด”
.
เพราะเหตุอันกระอักกระอวนอย่างว่า ต่อมาถึงสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ท่านจึงโปรดให้เปลี่ยน “ท่าเสม็ด” เป็น “ชะอวด” เสียในคราวจัดระบบการปกครองหัวเมืองใหม่ ซึ่งก็เป็นชื่อไม้ชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นไม้เถา ชาวเมืองเรียก “ย่านอวด” มีมากมายในถิ่นนี้เช่นเดียวกับ “เสม็ด”
.
ย่านอวดอ่อนนิ่มแต่เหนียวแน่นมาก ชาวบ้านนิยมนำมาควั่นเป็นเชือกใช้ล่ามวัว ล่ามควาย และว่าแม้จะใช้ล่ามช้างเชือกย่านอวดก็ทานกำลังดึงของช้างได้อย่างวิเศษ
.
แต่เปลี่ยนเป็นชะอวดก็ชะอวดไปเถอะ คงใช้เฟื่องอยู่ในวงราชการเท่านั้นเอง ชาวบ้านไม่นิยมเรียกเช่นเดียวกับ “ปราณบุรี” ของอดีต คงเรียก “ท่าเสม็ด” ชื่อท่าน้ำมาจนกระทั่งบัดนี้
__
จากบทความ “บุกดงจูด” ของ พ.ลำเพา ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๓