ความเป็นมาของของงาน "ดอกจูดบาน" ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพพิธีเปิดงาน "ดอกจูดบาน" ปี 2536
"ดอกจูดบาน" เป็นผลผลิตของการพัฒนาอำเภอชะอวด เป็นผลผลิตของการพัฒนาตำบลต่างๆ ในอำเภอชะอวด เป็นผลผลิตของการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน นั่นถือเป็นผลผลิตของการพัฒนาประเทศนั่นเอง
ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2524 "งานดอกจูดบาน" อำเภอชะอวด เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน หลายฝ่าย และได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหลายองค์กร จากหลายอำเภอและหลายจังหวัดใกล้เคียงจากมูลเหตุจูงใจ กรณีต่อไปนี้ คือ
1. เกิดจากแนวคิดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนของครูภาคสังคมของโรงเรียนชะอวด (ปลายปี 2523) ต่อผู้ปกครองนักเรียนที่มีฐานะยากจน เนื่องจากมีนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียน เรียนดีแต่ฐานะยากจน ขอสนับสนุนทุนการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งได้รับการพิจารณาอนุมัติ แต่ครูภาคสังคมฯ เกิดความสงสัยว่าผู้ปกครองนักเรียนที่ยากจนนั้น จนเพราะสาเหตุอะไร จึงได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนดังกล่าว ที่บ้านควนป้อม หมู่ที่ 1 ต.เคร็ง อ.ชะอวด พบว่าผู้ปกครองมีอาชีพสานเสื่อกระจูดที่ใช้สำหรับปูนอน แต่กระจูดหาซื้อมาได้จากเพื่อนบ้าน การเยี่ยมบ้านนักเรียนในครั้งนั้นทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมการจักสารเสื่อกระจูด ตั้งแต่.. ถ่อเรือออกไปถอนในป่าพรุควนเคร็ง..นำมารวมกันมัดเป็นกำ (มีหน่วยเรียกเป็นมัด) .. แล้วนำมาตัดหัว-ตัดท้าย .. นำไปคลุกกับโคลนตม ตากผึ่งแดดให้แห้ง รูปแบบแบบกับพื้นและหรือแบบกระโจม .. แห้งแล้วนำมาตำให้แบนด้วยสากบนกระจูด..แล้วนำมาจักสาน.. ลายสอง..ลายสาม..ลายลูกแก้วหรือลายประดิษฐ์อื่นๆ ตามความถนัด เม้มขอบ..ตัดหนวด..จนกลายเป็นผืนใช้ปูนอนได้ ตามลำดับ.. เมื่อได้จำนวนมากพอสมควรแล้วคอยโอกาสนำไปขายหรือขายส่งต่อแม่ค้าพ่อค้าคนกลาง ถ้าขายนอกพื้นที่ก็จะขายที่ตลาดชะอวดหรือที่อำเภอเมืองนครฯ ในงานเทศกาลต่างๆ ในการไปวางขายต้องเสียค่าที่ มากน้อยตามลักษณะของงานและปริมาณของเสื่อ "เสียค่าที่" เพราะคำๆนี้ นำไปใช้ในการจัดงานดอกจูดบานอย่างเป็นรูปธรรมจากการสนทนากับผู้ปกครอง ถ้าโรงเรียนชะอวดจะนำวงดนตรีของโรงเรียนออกแสดงทุกคืนวันเสาร์หลังสถานีรถไฟชะอวดและจัดวางเต้นท์ให้ ผู้ปกครองไปวางขายเสื่อที่หน้าวงดนตรีโดย "ไม่เก็บค่าเช่าที่" ผู้ปกครองจึงตอบตกลง ทำให้ผู้ปกครองมีรายได้พอเลี้ยงและส่งเสียให้ลูกได้ดีขึ้น นอกจากนั้นสินค้าวัฒนธรรมก็มีผลพลอยได้ไปด้วย อาทิ ถั่วต้ ขนมกล้วยทอด เป็นต้น
2.มูลเหตุจูงใจถัดมาที่ทำให้มีการจัดงานดอกจูดบ้านครั้งแรกคือในปี พ.ศ. 2522-2523 ในอำเภอชะอวดมีการปลูกไม้มงคลอย่างหนึ่งตามความเชื่อของแต่ลุบุคคล คือ "ว่านหงสาวดี" ซึ่งมีพ่อค้าหัวใสนำมาจากจังหวัดระนอง ชายแดนพม่า ราคาการขายดูจากลักษณะและจำนวนใบของว่าน ซึ่งนิยมกันมากเพราะมีความเชื่อว่าจะนำโชคลาภมาให้ มีญาติผู้เขียนคนหนึ่งหลงทางไปกับเขาด้วยแต่หนักไปทางไม้ประดับผู้เขียนโล่งใจไปว่าเออดีหน่อยที่ไม่หลงไปกับ "มนต์ดำ" กับตรงกันข้ามเกิดความคิดขึ้นมาว่าจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกว่านและหรือไม้ประดับอื่นๆ โดยจัดให้มีการประกวดว่านขึ้นที่โรงเรียนชะอวด จึงไปขอคำปรึกษามาจากกำนันอรุณ ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นพี่ชายและกำนันตำบลชะอวดในยุคนั้น กำนันอรุณเลยเปล่งประโยคคำพูดออกมาว่า "เออ!กูอีเปิดเรือนเพาะชำอยู่พอดี จัดพร้อมกันเสียเลย" แต่ควรไปหารือนายอำเภอ ขอเชิญนายอำเภอเป็นประธานเปิด สองพี่น้องเลยไปปรึกษากับนายอำเภอชะอวด ชื่อ นายบัญชา ถาวรานุรักษ์
3. สืบเนื่องมาตั้งแต่ สตอ.อรุณ ประดิษฐ์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และกำนันตำบลชะอวดในที่สุด ประจวบเหมาะกับ...อาจารย์มนตรี เศวตคาม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวันดห้วยแหยง (ราษฎร์ภูเก็ตอุทิศ) อำเภอชะอวดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นำเสนอการก่อสร้างถนนแบบของในเมืองจีน คู่ขนานกับนโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนเดินออกกำลังกายวันละ 5 กิโลเมตร จากบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารย์ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นายกรัฐมนตรี หลังจากที่ พณฯเดินทางกลับมาจากเยือนรัฐบาลจีน มีการวางแผนก่อสร้างถนนให้มีการแยกคนเดินถนนออกจากยวดยานพาหนะ ออกจากกัน มิให้เกิดอันตรายกับคนเดินเท้า หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากมายเหมือนในประเทศเรา โดยวางรูปแบบมองดูง่ายๆตามรูป เมื่ออาจารย์มนตรี เศวตคาม นำเสนอความคิดต่อกำนันอรุณ ประดิษฐ์ พิจารณาในเบื้องต้นเห้นชอบ จึงนำแนวคิดดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาตำบลชะอวด สภาเห็นชอบตามที่เสนอ รายละเอียดของโครงการมีมากมาย แต่ที่สำคัญคือการสร้างเรือนเพาะชำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแปลงเพาะชำสถานที่....ขอใช้ที่ดินของการรถไฟ หลังสถานีรถไฟชะอวดบริเวณหน้าธนาคารออมสินปัจจุบันกล้าไม้....เพาะชำมะขาม ขี้เหล็ก ประดู่ อินทนิน ตะแบก จามจุรีย์ ฯลฯ ที่เตรียมไว้ในแปลงเพาะชำมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกแก่หมู่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลชะอวดนำไปปลูก ปัจจุบัน : มีรอยการเดินที่เหลืออยู่คือ ถนนสายท่าสะท้อน บ้านท่าเข็น หมู่ที่ 2-7 ตำบลชะอวด อ.ชะอวด ต้นไม้ที่หายไปเกิดจากผลการเปลี่ยนแปลงผู้นำและแนวทางการพัฒนาที่ดำเนินการโดยไม่มองผลกระทบ เมื่อย้อนกลับไปถึงคำกล่าวที่ว่า "เออ!กูอีเปิดเรือนเพาะชำอยู่พอดี จัดพร้อมกันเสียเลย" นี่คือเหตุเบื้องต้นที่มาของ "งานดอกจูดบาน" แต่ในช่วงของประโยคที่กล่าวนี้ งานดอกจูดบานยังมิได้ปรากฏคำนี้คำว่า "ดอกจูดบาน" เกิดขึ้นเมื่อไรโปรดอ่านต่อไป
เมื่อสองพี่น้อง (อรุณ + คำรพ ประดิษฐ์) ไปพบนายอำเภอชะอวด คือนายบัญชา ถาวรานุรักษ์ เมื่อท่านพิจารณาจากคำบอกกล่าวของสองประดิษฐ์ ท่านกล่าวเชิงปรารภกับตัวเองว่า "ปลูกว่านก็เกษตร เรือนเพาะชำหรือแปลงเพาะชำก็เกษตร" จึงเรียกเจ้าหน้าที่ห้องให้ไปเชิญเกษตรอำเภอชะอวดมาร่วมหารือ ... ผลจากการหารือเห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น และมอบหมายให้เป็นเลขานุการของโครงการ วางแผนฉบับร่างจัดงานมหกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรของอำเภอชะอวด
ในช่วงวันเวลาขณะนี้
ชื่องาน ... ? ... ยังไม่ปรากฏ
แต่วัตถุประสงค์ กำหนดขึ้นชัดเจนคือ
1. เพื่อส่งเสริมการเกษตร
2. เพื่อสนับสนุนการเกษตร
3. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำนักงานการเกษตรอำเภอชะอวด ในฐานะเลขานุการได้วางแผนการดำเนินงาน หรือแนวทางในการจัดงานในเบื้องต้น จริงอยู่มิได้เน้นการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่แนวคิดในเบื้องต้น เน้นดำเนินการให้ยั่งยืน นั่นคือปีนี้ (2524) จัดแล้ว ปีหน้าจัดอีก ๆ ๆ ทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ผู้ เขียนมีส่วนเกี่ยวข้องในปีแรกนี้เป็นเพียงผู้ช่วยอาจารย์คำรพด้านการออกแบบ ร้านที่จะจัดสร้างบริการผู้มาจำหน่ายสินค้าและสนับสนุนการเกษตร เพราะอาวุโสยังน้อย แต่มองว่า ฝ่ายเลขานุการมิได้เน้นจัดงานให้เป็นระบบ ตามทฤษฏีที่กล่าวกันในทางวิชาการ แต่พ
อจะ ประมวลได้ว่า ฝ่ายเลขานุการโครงการก็พยายามพูดและหรือเขียนให้คณะกรรมการจัดงานร่วมกันฟัง หรือมองเห็นเป็น ทรัพยากรหรือปัจจัยตัวป้อนที่มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการดำเนินงานดอกจูดบาน ให้บรรลุตามเป้าหมายอันเป็นผลผลิตของระบบ ในปีแรกของการจัดการดำเนินงานดอกจูดบานยังมีการเก็บข้อมูล ข้อบกพร่อง (จุดด้อย) และสิ่งที่ดี (จุดเด่น) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงที่จัดการดำเนินงานในปีถัดไปหรือปีหน้านี้
ที่กล่าวมานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิด ที่มองเห็นแนวทางการดำเนินงานของกรรมการ ของผู้เขียนเองในปี 2524 ซึ่งยังจำแนกพฤติกรรมเป็นระบบ (System) และกระบวนการของระบบไช้มิได้
ในขั้นดำเนินการของฝ่ายเลขานุการในปีนั้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง มีจำนวน 80 คน นัดหมายให้มีการประชุมก่อการครั้งแรกที่หอประชุมโรงเรียนชะอวด วาระของการประชุมที่สำคัญคือ "ชื่องาน" โดยเป็นคำถามในที่ประชุมคือควรตั้งชื่องานว่าอย่างไร ?... ในที่ประชุม... นายประชา ซ้วนลิ่ม ครูสอนวิชาศิลปะในยุคนั้นเสนอว่าควรชื่อ "งานดอกจูดบาน"
เสื่อกระจูดที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนเคร็ง
“ดอกจูด” หมายถึงสัญญลักษณ์โดยองค์รวมของผลผลิตทางด้านการเกษตรทุกชนิดและหรือทุกประเภทในอำเภอชะอวด
“บาน” หมายถึง เผยออก โดยมองรูปกิริยา (แช่มชื่น)
หมายถึง มาก โดยมองในรูปวลี
“ดอกจูดบาน” หมายถึง ผลผลิตทางด้านการเกษตรในอำเภอชะอวดเพิ่มมากขึ้น หรือแช่มชื่นขึ้น หรือเผยออกให้เห็นผลผลิตทางด้านการเกษตรในอำเภอชะอวด
แต่!!! โดยสามัญสำนึกของผู้ฟังโดยทั่วไป หมายถึงความเจริญงอกงามของการพัฒนางานด้านการเกษตรในอำเภอชะอวด
การดำเนินงานครั้งแรก (ปี พ.ศ.2524) มีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมการเกษตร
2. เพื่อสนับสนุนการเกษตร
3. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ตามที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่เบื้องต้นว่า การพัฒนาท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศ การพัฒนาประเทศคือการพัฒนาวัฒนธรรม เนื่องจากวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. วัฒนธรรมโลก คือ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
2. วัฒนธรรมชาติ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง
3. วัฒนธรรมท้องถิ่น คือ ปัจจัย 5 องค์ประกอบวิถีชีวิต
วิถีชีวิตของทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้ง 3 ระดับ คือทุกคนต้องปฏิบัติตาม
ระดับโลกทุกคนต้องปฏิบัติ โดยให้ศึกษารายละเอียดจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 26-69
ระดับชาติส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งจะมีระเบียบและคำสั่งเป็นแนวปฏิบัติทุกกระทรวง ทบวง กรม
ส่วนวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์ประกอบเฉพาะกรณี ปัจจัย 5 องค์ประกอบวิถีชีวิต ซึ่งประกอบด้วย
1. การดำรงชีพ
2. ภาษาและวรรณกรรม
3. ศาสนา
4. ศิลปะการละเล่น
5. สังคม เศรษฐกิจ การเมือง
ทั้ง 5 องค์ประกอบนี่แหละที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการส่งเสริม/การสนับสนุนการเกษตรกรรมตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงานดอกจูดบาน แต่ 5 องค์ประกอบนี้จะพัฒนามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมระดับชาติ ที่กำหนดนโยบาย และดำเนินจัดทำแผนพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องและตอบสนองต่อนโยบายทุกข้อ ระดับท้องถิ่นเป็นระดับปฏิบัติตามแผนพัฒนาดังกล่าวแล้ว ถ้าพูดให้ง่ายก็คือ...ประชาชน...ปฏิบัติ หน่วยงานรัฐสนันสนุนและส่งเสริม "งานดอกจูดบาน" กำเนิดขึ้นโดยเหตุนี้ในรูปแบบของการนำเสนอต่อสาธารณชน นำไปสู่วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอชะอวดด้วย
"งานดอกจูดบาน" ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างไร ?
ผู้เขียนอนุญาตผู้อ่านทำความเข้าใจกับ "การท่องเที่ยว" ก่อนเป็นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านผู้อ่าน อ่านแล้ว รู้แล้ว เข้าใจแล้ว จะนำไปวิพากษ์งานดอกจูดบานได้ดีว่า อดีตเขาจัดกันอย่างไร ปัจจุบันจัดอย่างไร ปีใดจัดการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์
การท่องเที่ยวคืออะไร
ความหมายโดยทั่วไป ”การท่องเที่ยว” คือกระบวนการเดินทางของคนจากที่พักประจำไปยังสถานที่อื่น ๆ โดยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล เช่น
-การพักผ่อนแสวงหาความเพลิดเพลิน
-การแสวงหาความรู้นอกระบบตามอัธยาศัย
-การประชุม อบรม และหรือสัมมนา
-การแสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ ฯลฯ
แต่วัตถุประสงค์หลักคือการพักผ่อน ส่วนแสวงหาความรู้ และความงามเป็นปัจจัยรอง
ในทางวิชาการ มีผู้ให้นิยามของการท่องเที่ยวไว้มากมาย อาทิ
การท่องเที่ยว คือ การกระจายรายได้จากประชาชนที่ร่ำรวย ไปสู่ประชาชนที่ยากแค้นกว่า
การท่องเที่ยว คือ กระบวนการเดินทางเพื่อหาความเพลิดเพลิดจากชีวิตที่จำเจ
การท่องเที่ยว คือ การแสวงหาอากาศที่บริสุทธิ์ในชนบท หรือชายทะเลเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้น
การท่องเที่ยว คือ การแสวงหาความรู้ใหม่ ข้อมูลใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
การท่องเที่ยว คือ การศึกษาและดูงานเพื่อนำประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาความรู้ ฯลฯ
ทรัพยากรทั่วไปของการท่องเที่ยว
เนื่องจากแหล่งการท่องเที่ยวของชุมชน เป็นสถาบันส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรม เพราะชุมชนมีทรัพยากรพื้นฐานในการท่องเที่ยว ประกอบด้วย
1. ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
ซึ่งสร้างสมมาเป็นพันเป็นหมื่นปี เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ทะเล และความงามตามธรรมชาติ
2. ความมหัศจรรย์ทางวัฒนธรรม ซึ่งมนุษย์ได้สร้างขึ้น สืบทอดและรักษาสืบต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าชน เช่น ความงามของบ้านเมือง ศิลปะ การดำรงชีพ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิต ฯลฯ
รสนิยมของการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. คนที่ต้องการพักผ่อนหาความเพลิดเพลิน เพื่อเปลี่ยนความจำเจในชีวิตประจำวัน
2. คนที่ต้องการแสวงหาความงาม ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ และการสร้างสรรค์ของมนุษย์
3. คนที่ต้องการแสวงหาความรู้ประเภทต่าง ๆ
การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรม เป็นจิตวิญญาณหรือรูปแบบของการดำรงชีพของคน ของเผ่าพันธุ์ซึ่งแตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม และประเพณี
วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ
1. มรดกทางวัฒนธรรม
2. วัฒนธรรมร่วมสมัย
3. ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี
ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยว ต้องทำนุบำรุงรักษาทรัพยากร และจัดการต้อนรับผู้มาเยือนที่มีรสนิยมและความต้องการที่แตกต่างกัน โดยได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนจากผู้เดินทาง มีความรัก ความเข้าใจ ผูกพันเพื่อนมนุษย์และสถานที่ไปเที่ยวพักผ่อน
ยุทธวิธีในการดำเนินงานการท่องเที่ยว
การจัดการท่องเที่ยวให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องเข้าใจระบบ และกระบวนการจัดการ เช่น
1. มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยว ตลอดจนจิตวิญญาณของนักท่องเที่ยว
2. จัดขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานเป็นระบบ
3. มีเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน
ถ้าจะดำเนินงานเป็นธุรกิจ หมายถึง นักท่องเที่ยวจ่ายค่าตอบแทนในการบริการประเภทต่าง ๆ ให้ เช่น
• ที่พักและอาหาร
• พาหนะและค่าธรรมเนียม
• ค่าซื้อของที่ระลึก
• ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
งานดอกจูด กับ การส่งเสริมการท่องเที่ยว
ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 ของการจัดงานดอกจูดบานในปีแรกหรือครั้งแรก เกิดผลผลิตตามผลคาดว่าจะได้รับ การที่จะให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หลักนั้นมีน้อยเหลือเกิน เพราะมีปัญหาหลายประการ อาทิ
- ขาดการวางแผนการทำนุบำรุงรักษาและป้องกันแหล่งการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
- ขาดกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินงานโดยเฉพาะภาคราชการดำเนินการล่าช้ากว่าภาคเอกชน แต่ภาคเอกชนก็มุ่งแต่ผลกำไร จนลืมนึกถึงผลกระทบในระยะยาว
- องค์กรในการบริหารการท่องเที่ยวในระดับอำเภอไม่มี ถึงจะมีก็ขาดความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการยังเป็นอำนาจแบบรวมศูนย์ บุคคลหรือองค์กรในท้องถิ่นไม่มีส่วนในการวางแผนและบริหารจัดการอย่างแท้จริง
- ในสมัยนั้นวิธีการกระจายรายได้ลงไปถึงราษฏรโดยตรงไม่มี ฉะนั้นธุรกิจการท่องเที่ยวกระจุกอยู่ในมือผู้มีอำนาจและมีฐานะทางการเงินที่ดีเท่านั้น
วัตถุประสงค์การท่องเที่ยวจึงเกิดผลน้อย
การแห่เสื่อกระจูด งาน"ดอกจูดบาน" อ.ชะอวด
การจัดการการดำเนินงาน “ดอกจูดบาน” อำเภอชะอวด
ครั้งที่ 1/2524
การดำเนินงานในปีแรก ภายใต้ชื่องาน “ดอกจูดบาน” โครงสร้างของงานมิได้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแนะ แต่การดำเนินงานยึดหลักการวิเคราะห์งานโดยตระหนักว่า เมื่อกำหนดชื่องานและวัตถุประสงค์ของงานได้ชัดเจนแล้ว ก็ย้อนกลับไปยึดเอาแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมมาใช้ในครั้งแรก คือ
Policy + Process = Output
การจัดการดำเนินงานในครั้งแรกนั้น คณะกรรมการทุกคนยังมิเข้าใจด้วยซ้ำไปว่า “Policy” คืออะไร และหรือออกแบบ “Process” นั้นจะดำเนินการอย่างไร ทุกคนดำเนินงานตามแบบธรรมชาติที่เคยปฏิบัติกันมา คือเมื่อคิดจัดก็มีคำถาม คำตอบ อยู่ในตัว
- คิดจัด “งาน” อะไร “งานดอกจูดบาน” เป็นคำตอบ
- จัดทำไม ?
คำตอบคือ 1. ส่งเสริมการเกษตร
2. สนับสนุนการเกษตร
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยว
- จัดกิจกรรมอะไรบ้าง ?
คำตอบมีมากมาย จากความคิดของกรรมการที่ร่วมกันคิดในครั้งนั้น บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมที่ดีแต่ไม่สามารถจัดได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านเวลา
- กิจกรรมที่จัดได้ต้องเตรียมการอะไรบ้าง? ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดและหาแนวทางปฏิบัติด้วยกัน ฯลฯ
โดยสรุป ในการจัดงานครั้งแรกโดยความเป็นจริงมาจากหลักการ “วิเคราะห์งาน” ตามลำดับขั้นตอนของแนวคิด คือ
- งาน (ชื่องาน) อะไร
- งานนั้นมีกิจกรรมอะไรบ้าง
- กิจกรรมแต่ละกิจกรรมมีกิจกรรมย่อยของกิจกรรมอะไรบ้าง
- กิจกรรมย่อยของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมย่อย มีสถานการณ์ อันหมายถึงสิ่งที่จะเอื้ออำนวยหรือขัดขวางการปฏิบัติกิจกรรมของงานและการปฏิบัติกิจกรรมย่อยของงานนั้น รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ ฯลฯ อะไรบ้าง
ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันวิเคราะห์ ทุกคนช่วยกันหาแนวทางปฏิบัติ หาวัสดุอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวก และที่สำคัญคือช่วยกันรับผิดชอบ โดยเฉพาะสภาตำบลทุกสภาตำบล สนับสนุนด้านงบประมาณ เบื้องต้น และมีประชาชนร่วมบริจาคสมทบเงิน สมทบแรงงาน และวัสดุอุปกรตามอัตตภาพของแต่ละบุคคล
การจัดงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 สถานที่จัดงาน จัดกลางถนนวุฒิราษฎร์รังสฤษฏ์
สร้างโรงเรือนร้านค้าโดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่น เรือนไม้มุงหลังคาด้วยจาก “จากสาคู” ขนาดกว้างยาวประมาณ 5x15 เมตร วางขนาบเกาะลอยกลางถนน จากทางแยกไปนครฯถึงสถานีรถไฟชะอวด โรงเรือนทั้งหมดใช้สำหรับจัดกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมงานการเกษตรที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น และเป็นโรงเรือนที่ใช้สำหรับจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมในอำเภอชะอวด และอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียง
จุดเน้นสำคัญคือ “ไม่เก็บค่าที่ หรือ ค่าเช่าที่”
สำหรับกิจกรรมนันทนาการ ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ หนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก ร้องเรือ โต้วาทีคำกลอน การประกวดเพลง ตลอดจนการฟ้อนรำจากสถานศึกษา และกลุ่มองค์กรชุมชน อาทิ แม่บ้านและลูกเสือชาวบ้าน
จุดเด่นด้านนันทนาการดังกล่าวล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีในอำเภอชะอวด ที่มาเรียกกันยกต่อมาว่า “ของดีเมืองชะอวด”
กรอบเวลาในครั้งแรกกำหนดเวลา 5 วัน 5 คืน
ตั้งแต่วันที่ 8 -12 กรกฏาคม 2524
การวางแผนเป็นไปตามกระบวนการบริหารอย่างเป็นระบบ เพราะอาจารย์คำรพ ประดิษฐ์ น้องชายกำนัน อรุณ ประดิษฐ์ มีความรู้พื้นฐานการบริหารเป็นอย่างดีพอสมควร
ก่อนดำเนินการ – ขณะดำเนินการ – และหลังดำเนินการ
การปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบยังไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยที่สำคัญ หลังดำเนินการมีการประเมินผล / ตรวจสอบด้วย ถึงแม้จะไม่ละเอียดนักก็ตาม
ผลการประเมินและตรวจสอบ
การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์พอสมควร ทุกประการ
ด้านงบประมาณ รับจ่าย “ขาดทุน” แต่ไม่ทำความเดือดร้อนให้มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบขอบคณะกรรมการ เพราะ “กำไร” คือสิ่งที่ประชาชนได้รับ
ด้านค่านิยมและทัศนคติ ทุกคนทุกฝ่ายพอใจ เกษตรกรมีความคิดกว้างไกลขึ้น มีความรู้เพิ่มขึ้น
“ดอกจูดบาน” อำเภอชะอวด ดังไปทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ทุกฝ่ายมองตรงกันว่า อนาคตน่าจะเป็นงานเทศกาลประจำปีของอำเภอชะอวด ด้านการเกษตร
มองย้อนรอยอดีต มีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญคือการเก็บหลักฐานรอยการเดินทาง ไม่มีความเป็นเอกภาพ เอกสารบางอย่างเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอชะอวดเป็นผู้เก็บรักษา บางอย่างปลัดอำเภอชะอวดเก็บรักษา และบางอย่าง อาจารย์คำรพและหรือกำนันอรุณ ประดิษฐ์ เก็บรักษา เพราะงานนี้เป็นงานกึ่งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัด ทุกคน ทุกฝ่าย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันเติมเต็มถ้าเคร่งครัด เป็นระบบมากเกินไป ทุกคนทุกฝ่ายจะทำงานอย่างขาดความสุข จะมีผลกระทบให้การดำเนินงานมีผลไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์
----บันทึกความทรงจำ "ดอกจูดบาน" โดย อาจารย์มนตรี เศวตคาม----
ขอบคุณบทความจากแฟนเพจ ประวัติงานดอกจูดบาน