เมื่อพูดถึง สะพานโค้งชะอวด คนอำเภอชะอวดคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สะพานโค้งก็คือสะพานรถไฟข้ามคลองชะอวด อยู่เลยมาจากสถานีรถไฟชะอวดไปหน่อยเดียว ซึ่งปัจจุบันได้มีสะพานทุ่นลอยน้ำข้ามคลองชะอวด ซึ่งคู่ขนานกับสะพานโค้ง สามารถทำให้ข้ามคลองได้อย่างสะดวกระหว่างตำบลชะอวดกับตำบลท่าเสม็ด หลายคนนิยมมาถ่ายรูปกับสะพานโค้ง ถือเป็นแลนค์มารค์แห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ยังสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินกลางคลองชะอวดได้อีกได้ ว่าแล้วเราก็มีภาพบรรยากาศมาให้ได้ชมกัน
“สะพานโค้งชะอวด” คือสะพานรถไฟที่สร้างข้ามฝั่งคลองชะอวดในช่วงหมู่ที่ ๑ ตำบลชะอวด และหมู่ที่ ๗ ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า“สะพานโค้ง” เป็นสะพานแบบ “ ๑ x ๘๐ Truss Bridge กม. ที่ ๘๐๖.๕๙ อันหมายถึง ๑ ช่วง สะพาน ความยาวของคานเหล็ก ๘๐ เมตร ตรงจุดที่ ๘๐๖.๕๙ กิโลเมตร สร้างขึ้นมาพร้อมกับเส้นทางรถไฟสายใต้ ช่วงทุ่งสง – พัทลุง ในสมัย ร. ๕ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลสยามหาแหล่งเงินกู้และกำลังให้เยอรมันเป็นผู้ก่อสร้าง เกิดมีกระแสข่าวว่า “อังกฤษทำสัญญากับฝรั่งเศสอย่างลับๆ จะเอาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขตโดยให้ฝรั่งเศสยึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคอีสานทั้งหมดไปรวมกับลาวและเขมร ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งภาคใต้ อังกฤษจะยึดไปรวมกับมาลายู สิงคโปร์ และพม่า” เมื่อเหตุการณ์ผันแปรและสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ รัฐบาลสยามจึงจำเป็นต้องผ่อนปรนให้อังกฤษเป็นผู้สร้างทางรถไฟสายใต้นี้แทนเยอรมัน พร้อมกับขอกู้เงินจำนวน ๔ ล้านปอนด์สเตอร์ลิงค์ หรือ) ประมาณ ๔๔ ล้านกว่าบาท เพื่อแลกกับสิทธิครอบครองเหนือดินแดน กลันตัน ตรังกานูไทรบุรีและปะลิสให้กับอังกฤษ โดยฝ่ายไทยส่งพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าบุรฉัตรไชยการ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งสำเร็จวิศวกรรมรถไฟจากเยอรมัน เป็นวิศวกรร่วมก่อสร้าง ฉะนั้นปัจจุบันจะเห็นรูปฉัตร ๓ ชั้น และพระนาม “บุรฉัตร” ติดอยู่ที่หัวรถจักรรถไฟทุกคันเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน
ในการปักเขตเส้นทางตั้งแต่ชุมพรลงมา ถึงมณฑลปัตตานีครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) จางวางเมืองไชยา เป็นหัวหน้าคณะสำรวจเพราะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในภูมิประเทศพื้นที่หัวเมืองปักษ์ใต้อย่างดีและเส้นทางรถไฟช่วงนี้เริ่มตั้งแต่ทุ่งสงตัดข้ามบ้านช่องเขาทับไปบนเส้นทางเดินโบราณ จากฝั่งทะเลอันดามันไปสู่ฝั่งอ่าวไทย ในเขตร่อนพิบูลย์ เมื่อถึงช่องเขาต้องเจาะอุโมงค์เพื่อลดระยะทางลงสู่ที่ราบฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหลวง หรือเทือกเขานครศรีธรรมราช และเมื่อถึงเขาชุมทองก็หักเลี้ยววกลงไปทางทิศใต้สู่พัทลุงอันมียอดเขา “อกทะลุ” เป็นที่หมายตา (Land Mark) ระยะทาง ๘๙ กิโลเมตร การสร้างทางรถไฟช่วงนี้นั้นสำคัญที่สุด ยากลำบากที่สุดและทุรกันดารมากที่สุดของสายใต้ เพราะต้องเจาะหินบริเวณบ้านช่องเขาให้เป็นอุโมงค์ ซึ่งจะต้องใช้คนงานกรรมกรวันละไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ – ๓๐๐ คน นายช่างวิศวกรต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ ดังคำบันทึกของ ขุนนิพัทธ์ จีระนคร (เจียกีซี) ผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟสายนี้ว่า “การขุดเจาะอุโมงค์ลอดเขานั้น มีหลายบริษัทต้องทิ้งงานไปเพราะบริเวณนี้เป็นป่าทึบทุรกันดารมาก มีไข้ป่าชุกชุม คนงานกรรมกรรุ่นแล้วรุ่นเล่านับเป็นร้อยๆ ต้องประสบกับการเจ็บป่วยและเสียชีวิตไป” ประกอบกับปักษ์ใต้ขณะนั้นพลเมืองมีจำนวนน้อย จึงต้องอาศัยแรงงานกรรมกรจากต่างถิ่น โดยเฉพาะชาวจีนคือถางป่าเป็นแนวกว้างประมาณ ๑ เส้น หรือ ๔๐ เมตร เพื่อเป็นแนวลงดินและหินสำหรับวางรางเหล็กจึงต้องแบ่งงานกันเป็นช่วงๆ ละ ๓๐ กิโลเมตร แต่ละช่วงมีโรงงานเก็บวัสดุอุปกรณ์และที่พักของคนงานประมาณ ๘–๑๐ หลัง กรรมกรแบ่งงานกันทำคือ จีนแคะทำหน้าที่บุกเบิกถางป่า จีนแต้จิ๋วทำหน้าที่ขุดโกยดินถมทางให้สูงประมาณ ๔.๕ เมตร จีนกวางตุ้งทำหน้าที่โรยหินบนดินที่ถมไว้ให้ได้ระดับ เพื่อวางไม้หมอนและรางต่อไป แต่บางครั้งก็เกิดปัญหาเนื่องจากภาคใต้เป็นเขตมรสุมเมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกน้ำท่วมหรือไม่ก็เกิดน้ำป่ากัดเซาะเส้นทางที่จัดทำไว้เรียบร้อยแล้วพังทลายลงอีก หรือบางครั้งโขลงช้างป่าเหยียบย่ำทำลายแนวคันดิน วัสดุการก่อสร้าง ผลักทำลายไม้หมอน โรงร้านและโรงเรือนที่พักคนงานล้มระเนระนาด โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างชะอวด- ป่าพะยอม-ควนขนุน-และพัทลุง เพราะการสร้างเส้นทางรถไฟช่วงนี้ไปขว้างทางเดินหากินตามธรรมชาติของโขลงช้างระหว่างเทือกเขาบรรทัดกับบริเวณที่ราบลุ่มน้ำ ควนเคร็ง ทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา คนงานก็ต้องเริ่มงานกันใหม่อีก
ส่วนวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ อาศัยแม่น้ำปากพนัง คลองเชียรและคลองชะอวดในการลำเลียงขนส่งโดยมีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่มาจอดทอดสมอบริเวณอ่าวไทยแล้วขนถ่ายลงเรือขนาดกลาง ขนาดย่อมล่องไปตามแม่น้ำปากพนัง คลองเชียรและคลองชะอวด มาขึ้นฝั่งที่ชะอวด แล้วลำเลียงทางบกไปยังบ้านทุ่งค่าย ซึ่งมีคลังเก็บวัสดุขนาดใหญ่ตั้งอยู่ แล้วขนส่งต่อไปยัง บ้านตูล เขาชุมทองและร่อนพิบูลย์ ส่วนด้านทิศใต้ลำเลียงไปยัง บ้านนางหลง บ้านขอนหาด แหลมโตนดและปากคลอง
สำหรับโครงสร้างสะพานเหล็กที่ชะอวดนั้น ทำสำเร็จมาจากต่างประเทศ บรรทุกเรือล่องมายังแม่น้ำปากพนังถึงชะอวดบริเวณที่เส้นทางรถไฟตัดผ่านก็ใช้ปั้นจั่น หรือเครน (Crane) ขนาดใหญ่ยกขึ้นครอบประกบลงบนคอสะพาน ซึ่งนายช่างวิศวกรได้ คำนวณไว้ตามแบบที่เขียนไว้ก่อนแล้วประกอบเข้าเป็นโครงทรัส หรือโครงสะพานตามที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เส้นทางรถไฟช่วงนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เสร็จและเปิดใช้ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ดังนั้นขณะนี้สะพานโค้งชะอวด มีอายุยืนยาว ๑๐๐ ปี มาแล้ว ช่วงระยะเวลาหนึ่งร้อยปีดังกล่าว ได้ผ่านการใช้งานบริการขนส่งผู้คน สินค้า และในยามเหตุการณ์ไม่ปกติเกี่ยวกับความมั่นคงประเทศ เช่นในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๘ สะพานแห่งนี้ยังเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดมา ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธใดๆ ทั้งสิ้นและเคยซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ปัจจุบันยังคงยืนหยัด โดดเดี่ยวสูงดำทะมึน ท้าแดดลมฝนผ่านมาหนึ่งศตวรรษแล้ว
ชาวชะอวดต่างภาคภูมิและพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่านี่คือ “ ๑๐๐ ปี สะพานโค้งชะอวด” เป็นสะพานแห่งมิตรภาพ เป็นสะพานแห่งความปลื้มปีติยินดี เป็นสะพานแห่งสัญลักษณ์และเป็นเครื่องหมายตา ( Land Mark ) ของอำเภอชะอวดและผู้คนทั่วไป โดยปริยาย ดังคำเปรียบเปรยไว้ว่า
“สะพานโค้งชะอวดเป็นสะพานมานานปี บัดนี้ยังบริการมานานเหลือ
รับใช้ชนขนส่งขึ้นลงทุกเมื่อ ทั้งใต้เหนือออกตกไม่บกพร่อง
เคยซ่อมสร้างมาบางครั้งยังปรากฏ ปีกำหนดนั้นสองพันห้าร้อยสิบสอง
ตั้งโดดเด่นเห็นสง่าขวางลำคลอง ทะมึนมองเป็นสัญลักษณ์แก่นักเดิน
ทาง”
(จากหนังสือสารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘/ผจญ มีจิตต์)